หนุ่มโพธาราม จ.ราชบุรี ค้างคาวประหลาดสีส้มบินเข้าห้องนอน พบเป็น “ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ” ถือเป็นสัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ กลัวถูกดำเนินคดี นำไปปล่อยสู่ธรรมชาติแต่กลับบินไม่ขึ้น คอหวยไม่พลาดนำเลขไปเสี่ยงโชคได้รับแจ้งว่ามีคนพบค้างคาวประหลาด มีลักษณะพิเศษคือ ลำตัวสีส้มแกมแดงคาดดำ บินเข้าไปภายในห้องนอนภายในบ้านของชายหนุ่มคนหนึ่ง จึงเดินทางไปตรวจสอบ บ้านอยู่ติดริมถนนภายในชุมชน วัดดีบอน-วัดบ้านฆ้อง บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 9 ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
พบชาวบ้านกว่า 10 คน พากันมาดูค้างคาวสีส้ม ตัวเล็ก น้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ที่เลี้ยงไว้ในกรง ความกว้างของปีกประมาณ 15 ซม. ใบหูค่อนข้างใหญ่ ขนคลุมลำตัวยาว หนาแน่น และปุย ด้านบนลำตัวสีส้มสดจนถึงสีแดงแกมน้ำตาล พังผืดปีกส่วนที่ติดกับลำตัวและในแต่ละข้างของกระดูกปลายปีกเป็นสีส้ม ทั้งด้านบนและด้านล่าง บริเวณอื่นๆ สีดำ พังผืดขาสีส้มถึงสีแดง ชาวบ้านต่างพากันตะลึง บอกไม่เคยเห็นมาก่อน
จากการสอบถาม นายกิตศักดิ์ ผลจันทร์ อายุ 28 ปี เจ้าห้องดังกล่าว กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 23.30 น. ตนเห็นค้างคาวสีส้มตัวนี้ได้บินเข้าไปในห้องนอน จึงได้จับไปปล่อยหลังบ้านซึ่งเป็นป่ากล้วย แต่แล้วค้างคาวก็บินตกลงมาที่พื้น จึงได้เก็บมาเลี้ยงไว้ในกรง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าแมวที่เลี้ยงไว้กว่า 10 ตัว จะรุมกัดกิน
จากนั้นได้สอบถามไปยังคนเฒ่าคนแก่ว่าเคยเห็นค้างคาวตัวลักษณะแบบนี้หรือไม่ โดยทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นค้างคาวสีส้มแบบนี้มาก่อนในชีวิต เห็นแต่ในข่าวต่างๆ
นายกิตศักดิ์ เล่าต่อว่า จากนั้นได้หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็น “ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ” เป็นค้างคาวที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอดหรือท่อ และจะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออกไม่ม้วนเป็นหลอดแล้ว
นอกจากนี้ ยังพบเกาะอยู่ตามใบแห้งของต้นไม้ ยอดหญ้าพง ยอดอ้อ และยอดอ้อย กระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ตอนใต้ของประเทศจีน เวียดนาม ไทย มาเลเชีย และอินโดนีเซีย พบไม่บ่อยและมีปริมาณไม่มากนัก แต่พบทุกภาค
และถือเป็นสัตว์หาดูยากมาก มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ซึ่งตนก็กลัวความผิดที่ได้นำมาใส่กรงไว้ จึงได้แจ้งประสานไปยังนักข่าวเพื่อที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำแนะนำ
จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จ.ราชบุรี ให้คำแนะนำว่า ค้างคาวตัวที่ชาวบ้านจับไว้ได้นั้น เป็น “ค้างคาวยอดกล้วยปีกผีเสื้อ” เป็นค้างคาวที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอด หรือท่อ และจะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออกไม่ม้วนเป็นหลอดแล้ว
ไม่แนะนำให้เลี้ยงไว้เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยตามธรรมชาติแล้วค้างคาวก็จะบินไปเองไปหายอดของต้นกล้วยที่มีใบกล้วยม้วนกรม
ในกรณีที่บินไม่ได้คาดว่าน่าจะเกิดการบาดเจ็บขณะที่บินไปชนกำแพงได้ วิธีการปล่อยให้นำกระดาษม้วนเป็นกรวยแล้วจับค้างคาวส้มใส่ไว้ในกรวยกระดาษและนำไปเสียบไว้ที่ต้นกล้วย พอถึงเวลากลางคืนเข้าจะบินออกมาตามธรรมชาติเอง
นายกิตศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ตนก็จะทำตามคำแนะนำและจะนำไปปล่อยในช่วงค่ำ ที่วัดซึ่งมีต้นกล้วยอยู่หลายต้น ถ้าปล่อยที่หลังบ้าน เดี๋ยวค้างคาวบินตกลงมาแมวจะรุมกัดจนตายได้